การตรวจหัวใจ
ระยะ นี้มีข่าวเรื่องการตรวจและการรักษาโรคหัวใจชนิดใหม่ๆ มากมายหลายวิธี ทำให้ทั้งประชาชน (คนปกติ) คนไข้ หมอ (ที่ไม่ใช้หมอหัวใจ) และหมอหัวใจ บางครั้งก็สับสนไปเหมือนกันว่าอะไรดี อะไรไม่ดี จะเลือกตรวจหรือเลือกรักษาด้วยวิธีไหน
วิธีหาคำตอบ ตามหลักการ (ที่พวกหมอ) คิดนั้นไม่ยาก แต่ต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า การตรวจ การรักษาทุกชนิดมีความเสี่ยงและการที่ไม่ตรวจและไม่รักษาภาวะผิดปกติหรือโรค ใดๆ ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน!!
ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกการตรวจหรือการรักษาด้วยวิธีไหน ก็ต้องมีความรู้ว่า การตรวจหรือรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ กับการไม่ตรวจหรือไม่รักษาอะไรจะเสี่ยงกว่ากัน ถ้าอยู่เฉยๆ (ไม่ทำอะไรเลย) เสี่ยงน้อยกว่า ก็อยู่เฉยๆ ดีกว่าครับ.....!!!
แต่ถ้าอยู่เฉยๆ (ไม่ทำอะไรเลย..... เพราะกลัวเจ็บ!!!) แล้วมีความเสี่ยงมากกว่า เราก็ค่อยหาวิธีตรวจและรักษาความผิดปกติหรือโรคที่มีต่อไป ทีนี้จึงค่อยมาดูกันว่า การตรวจและการรักษาที่มีให้เลือกสำหรับภาวะและโรคนั้นๆ วิธีไหนจะให้ประโยชน์มากกว่ากัน
สำหรับการตรวจต่างๆ นั้นประโยชน์ ก็คือต้องดูว่า การตรวจวิธีไหนจะถูกต้องแม่นยำกว่ากัน สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจอาจจะต้องถามผู้ตรวจด้วยว่า วิธีไหนเจ็บมากน้อยแค่ไหน ความสะดวก (รวดเร็ว) ในการตรวจเป็นอย่างไร และบางคนที่มีประกันสุขภาพ ก็ต้องดูให้ดีด้วยว่า ประกันของเราจะรวมการตรวจรักษาใหม่ๆ นั้นหรือไม่ เพราะระบบประกันสุขภาพต่างๆ (รวมทั้งประกันส่วนตัว, ประกันสังคมและโครงการ 30 บาท) มักจะตามไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากการตรวจเหล่านี้จะมีราคาสูงมากและประโยชน์เพิ่มขึ้นมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับราคาที่เพิ่มขึ้น (ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเราตีราคาความเสี่ยงและชีวิตคนเป็นเงินได้!!!)
ถ้าเป็นวิธีการรักษาประโยชน์ที่จะดูว่าวิธีใหม่ๆ นั้นดีกว่าวิธีเก่าอย่างไรก็ให้ดูที่ว่า วิธีรักษานั้นๆ มีโอกาสที่ทำให้ท่านหายจากโรคนั้นได้มากน้อยเพียงไร อาการ (ความเจ็บปวด ทรมาน รู้สึกไม่สบาย) ดีขึ้นแค่ไหน และวิธีการรักษานั้นๆ ป้องกันไม่ให้ท่านกลับมาเป็นโรคเดิมได้อีกและได้ดีแค่ไหน
ส่วนความเสี่ยงจากการตรวจและรักษา ในเรื่องของหัวใจก็ให้ดูเรื่องโอกาสที่จะเสียชีวิต เกิดหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว อัมพาตหรืออัมพฤกษ์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหนระหว่างการไม่รักษาหรือการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเรื่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) ความเสี่ยงของการตรวจต่างๆ เรียงลำดับจากน้อยไปมาก......
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), คลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ (ECHO), ตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจด้วยการเดินสายพาน หรือใช้ยา (Stress Test), ตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI), ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Multislices Detector CT scan – MDCT) และท้ายที่สุด คือ การเอ็กซเรย์หลอดเลือดหัวใจด้วยการสวนหัวใจ (Catheterization Coronary Angiography) ……สองอย่างสุดท้ายนั้นต้องมีการฉีดสีหรือสารทึบรังสีด้วย!!!
ส่วนความแม่นยำนั้น เรียงจากต่ำไปสูง คือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, คลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ, ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน, ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง, ตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและแม่นยำที่สุด (ที่มีในเวลานี้) คือ การเอ็กซเรย์หลอดเลือดหัวใจด้วยการสวนหัวใจ
สำหรับการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้าเรียงตามความเสี่ยงจากน้อยไปมาก คือ
การออกกำลังกาย (ที่ถูกวิธี และแนะนำควบคุมโดยแพทย์), การรักษาด้วยยา, การนวดด้วยเครื่องนวดรักษาหัวใจ (EECP), การขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูนและใส่ขดลวด และเสี่ยงสูงสุด คือ การผ่าตัด!!! ........ แต่อย่าลืมนะครับ หากเสี่ยงกับการไม่รักษาเลยว่า อะไรจะเสี่ยงกว่ากัน
ส่วนประโยชน์ที่จะได้จากการรักษาต่างๆ เรียงจากน้อยไปมากได้แก่ การรักษาด้วยยา, การนวดด้วยเครื่องนวดรักษาหัวใจ, การขยายหลอดเลือดโดยทำบัลลูนใส่ขดลวด...... แต่ในระยะหลัง การใช้ขดลวดเคลือบยาและการผ่าตัดทำบายพาสนั้น ได้ประโยชน์เกือบเหมือนกัน จะแตกต่างกันก็ในลักษณะโรคบางชนิดเท่านั้น!!
ตัวอย่าง ความเสี่ยงและประโยชน์ที่ว่ามานั้น เป็นรายงานของคนไข้ส่วนใหญ่เท่านั้นนะครับ คนไข้แต่ละคน หมอต้องดูรายละเอียดเป็นรายๆ ไป เพราะคนเราแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน โรคที่เป็นก็ไม่เหมือนกัน (ถึงแม้จะเรียกชื่อโรคเดียวกัน) ผลการรักษาแบบเดียวกันคนหนึ่งได้ผลดี อีกคนหนึ่งอาจจะได้ผลไม่ดีก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหมอสองคนให้การรักษาคนไข้สองคนที่เป็นโรคเหมือนๆ กัน (จริงๆ ต้องใช้คำว่าโรค ชื่อเดียวกัน เพราะดูรายละเอียดแล้วอาจจะไม่เหมือนกันทุกอย่าง!!) คนไข้คนหนึ่งรอด อีกคนหนึ่งอาจจะตายก็ได้!!!
มีคนไข้คนหนึ่ง อายุประมาณ 60 ปีเศษ มาพบผมด้วยอาการจุกแน่นที่ลิ้นปี่ ค่อนขึ้นมาตรงกลางหน้าอก ขณะกำลังเดินไปที่จอดรถหลังรับประทานอาหาร มีอาการอยู่ 2 ครั้ง แน่นอยู่ครั้งละ 5 – 15 นาที ทีแรกคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ รับประทานยารักษาโรคกระเพาะแล้ว อาการไม่ดีขึ้น
เมื่อผมฟังอาการก็บอกได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (แม่นกว่าวิธีตรวจต่างๆ เสียอีก!!) ว่าเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ แน่ๆ
แต่คนไข้กลัวการสวนหัวใจมาก ผมจึงส่งไปตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (64-slice หรือ MDCT scan) ก่อน ก็พบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบมากจำนวน 3 เส้น ดูแล้วแต่ละแห่งน่าจะทำการขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดเคลือบยาได้ จึงได้อธิบายวิธีทำ ข้อดีข้อเสีย และความเสี่ยงของการรักษา (และไม่รักษา) ด้วยการขยายหลอดเลือดไปแล้ว ถามคนไข้ว่า จะตัดสินใจว่าอย่างไร......
คนไข้ “ขอผมไปปรึกษากันก่อนนะครับ” ..... คนไข้มักจะพูดแบบนี้เวลากลัว และเกรงใจหมอ
หมอ “ปรึกษาใครกันอีกล่ะครับ?” โธ่..... ก็ทั้งลูกทั้งภรรยามาด้วยกันครบทุกคน แถมทุกคนก็เชียร์ให้ทำ
“ผมขอไปปรึกษาหมอ (อีกคน) ก่อน” คนไข้ค่อยๆ พูดด้วยความเกรงใจ
หมอ “อ๋อ! ได้เลยครับ ดีเหมือนกัน ลองถามความเห็นหลายๆ คนเพื่อความสบายใจ”
ภรรยารีบตัดบท “ไม่ใช่หรอกค่ะหมอ .... เค้ากลัวมาก... จะไปหาหมอดูให้ช่วย ดูฤกษ์ที่จะมาทำบัลลูนกับ หมอมากกว่า!!”
หมอได้ (ฉวย) โอกาส “อ้าว!! ถ้าอย่างนั้นต้องเอาดวงผมไปดูด้วยนะครับ..... แต่เมื่อวันก่อนผมเพิ่งไปดูมา
.... หมอ (ดู) บอกว่า ผมจะทำการงานใดๆ ก็สำเร็จ ทั้งงานใหญ่ งานเล็ก ได้ผลดีเกินคาด แต่ถ้า ผ่านอาทิตย์นี้ไปแล้วให้ระวัง” .....ตอนสุดท้ายนี้ ผมเติมเอง แล้วก็ไอ้ที่บอกว่า ให้ระวังน่ะ คือ ให้ระวังคนไข้หนีมากกว่า!!
พอพูดจบ คนไข้ที่เชื่อหมอดูมากกว่าหมอหัวใจ ก็ยอมเข้าโรงพยาบาลมารับการขยายหลอดเลือดเสร็จเรียบร้อยกลับบ้านไป ตอนอยู่โรงพยาบาลตรวจพบเพิ่มขึ้นว่า เป็นเบาหวานและมีไขมันในเลือดสูง จึงได้รับการรักษาและคำแนะนำเพิ่มเติมไปด้วย.......
เป็นอันว่า คนไข้คนนี้เป็นไปตามคำทำนาย (ที่ผมแต่งเอง) เพราะการรักษาได้ผลดีและพบโรคอื่นเพิ่มขึ้น .....ซึ่งก็ได้รับการรักษาไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น